เรื่องน่าสนใจ

► ทำไมพลุถึงมีสีที่แตกต่างกัน

พลุหรือดอกไม้ไฟมีความซับซ้อนกว่าประทัดเล็กน้อย เพราะพวกมันถูกอัดด้วยดินปืน ซึ่งก็คือ ดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3) ผสมกับกำมะถัน และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วย และส่วนประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พลุมีประกายไฟที่มีสีสันแตกต่างออกไปจากประทัด ตลอดจนการจัดเรียงส่วนประกอบภายในไส้พลุและจำนวนชั้นที่ห่อหุ้มไส้พลุก็ยังทำให้พวกมันมีรูปแบบและระดับความสูงที่แสดงออกมาบนท้องฟ้าได้อย่างหลากหลาย


พลุประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลักๆ 6 ส่วน ได้แก่

  1. ชนวน (Fuse) เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ซึ่งจะยื่นออกมาจากพลุด้วยความยาวระดับหนึ่ง สำหรับให้เราจุดไฟที่ปลายของชนวนนี้
  2. เปลือกห่อหุ้ม (Shell) เป็นส่วนที่ห่อหุ้มส่วนประกอบทั้งหมดของพลุเอาไว้
  3. ดินปืนส่งให้พลุพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า (Lifting Charge) ส่วนนี้เป็นส่วนที่จะเชื่อมต่อกับชนวน โดยจะสัมผัสกับประกายไฟและส่งให้พลุพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
  4. ชนวนควบคุมเวลาการระเบิด (Time Delayed Fuse) เป็นชนวนที่อยู่ภายในเปลือกห่อหุ้ม และเป็นตัวกำหนดระยะเวลาที่พลุจะระเบิดออกมาเป็นสีสันต่างๆ
  5. ดินปืนจุดระเบิด (Bursting Charge) อยู่ติดกับชนวนควบคุมเวลาการระเบิด
  6. เม็ดดาว (Star) เป็นส่วนของสารเคมีที่ให้สีสันต่าง ๆ เมื่อแตกออก

หลักการทำงานของพลุหรือดอกไม้ไฟ เมื่อเราจุดไฟที่ชนวนของพลุ ไฟจะลุกไหม้กระทั่งไปถึงดินปืน เมื่อโพแทสเซียมไนเตรตในดินปืนได้รับความร้อนก็จะปลดปล่อยออกซิเจนออกมา และทำให้ไฟติด เกิดการเผาไหม้และแรงปะทุส่งให้ไส้พลุพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ขณะที่ไส้พลุเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้า ชนวนควบคุมเวลาการระเบิดจะเกิดการเผาไหม้ เมื่อมันสัมผัสกับส่วนผสมต่างๆ ภายในไส้พลุ และระเบิดออก จะทำให้เม็ดดาวแตกกระจายออกมา และให้สีสันที่สวยงามที่เราเห็นบนท้องฟ้า โดยสารเคมีแต่ละชนิดจะให้สีสันต่างๆ กัน เช่น

  • สทรอนเชียมคาร์บอเนต (SrCO3) ให้สีแดง
  • ลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) ให้สีแดง
  • แบเรียมคลอเรต (BaClO3) ให้สีเขียว
  • คอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4) ให้สีฟ้า
  • แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ให้สีเหลือง
  • โซเดียมออกซาเลต (Na2C2O4) ให้สีเหลือง
  • แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) ให้สีส้ม

ที่มา
Wonderopolis. How Are Fireworks Made? สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2560
WIRED. What’s Inside: Fireworks. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2560
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. สีสันแห่งดอกไม้ไฟ. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2560
https://www.scimath.org
https://www.trueplookpanya.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *